ประเด็นร้อน

9 หลักเกณฑ์สกัด 'ทุจริตเชิงนโยบาย'

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 18,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -

 

กกต.มีอำนาจสั่งพรรค ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้อง ภายในกำหนด

 

ป.ป.ช.เปิด 9 หลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปใช้เป็นหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง ป้องกันปัญหาตามมา ในช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งก่อนถึงวันหย่อนบัตร 24 มีนาคมนี้ ทุกพรรคการเมืองได้พากันเปิดนโยบายเพื่อขอคะแนนเสียงจากประชาชน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริต จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายที่เสนอโดยพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปเป็นหลักในการหาเสียง และกำหนดนโยบายต่างๆ อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิง นโยบาย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ในขั้นตอนของการพัฒนานโยบาย ยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ  มีเกณฑ์การประเมิน 5 เกณฑ์ คือ ความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบาย  การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย มีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงของนโยบายโดยมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ  และเสริมสร้างความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง

 

ส่วนที่ 2 เป็นขั้นตอนการนำนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติ มีเกณฑ์ชี้วัด 4 ตัว คือ มีการเตรียมการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตก่อนการดำเนินการตามนโยบาย มีการเตรียมการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และติดตามการดำเนินนโยบาย มีการเตรียมการประเมินผลการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต  และมีการเตรียมการสร้างความโปร่งใสและการเฝ้าระวัง สำหรับการตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตามกฎหมายพรรคการเมืองด้วย โดยนโยบายของพรรคจะต้องคำนึงถึงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบาย มีความคุ้มค่าและประโยชน์ รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย  ซึ่ง กกต.มีอำนาจสั่งให้พรรคการเมืองดำเนินการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

ทั้งนี้ ประธาน ป.ป.ช. ได้ส่งหลักเกณฑ์ ดังกล่าวพร้อมคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดฯ ส่งไปยังประธาน กกต.แล้ว เพื่อให้สำนักงาน กกต.นำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่จะให้พรรคการเมืองใช้เป็นกรอบในการพัฒนาและกำหนดนโยบาย เพื่อลดความเสี่ยง ต่อการทุจริตเชิงนโยบาย โดยให้นำนโยบายหาเสียงมาเทียบกับเกณฑ์ชี้วัดนี้

 

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ 

วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า ขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนที่ ป.ป.ช.จับตามองมากที่สุด คือการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ที่หน่วยงานรัฐจะเป็นผู้ปฏิบัติตามเกณฑ์ในขั้นตอนนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาล และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หลักเกณฑ์นี้ประสบความสำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเฝ้าระวังความผิดปกติ โดยเฉพาะขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติด้วย

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw